สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย
ในพระบรมราชูปถัมภ์

มาทำความรู้จัก พระมนูคือใคร? และเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องด้วยกิจการลูกเสือไทยและวชิราวุธวิทยาลัย

#หลายคนคงไม่รู้ว่าพระมนูคือใคร

ในโอกาสคล้ายวันพระราชทานกำเนิดวชิราวุธวิทยาลัย ๒๙ ธันวาคม

ขอนำเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องด้วยกิจการลูกเสือไทยและวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งก็คือโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในรัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ #จัดตั้งลูกเสือขึ้นเป็นกองแรกของไทย และได้รับพระราชทานธงพระมนูแถลงสารไว้เป็นธงประจำกองลูกเสือกรุงเทพที่ ๑ (ลูกเสือหลวง) และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนเรียกนามว่า “กองลูกเสือหลวง (รักษาพระองค์)” ก่อนที่จะได้รับการยกขึ้นเป็น “กรมนักเรียนเสือป่าหลวง” ในเวลาต่อมา

พระมนูแถลงสาร ซึ่งปรากฎอยู่กลางผืนธงสีดำนั้น คือฤาษีผู้นิพนธ์คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ตำนานกล่าวว่า พระมนูเป็นบุตรของพระเทวะฤาษี มีพี่ชายคือ ภัทระฤาษี เมื่อมนูหรือมโนสารเติบโตขึ้นก็ได้ตามพี่ชายเข้าไปรับราชการเป็นผู้พิพากษาในราชสำนักของพระเจ้าสมมติราช อยู่มาวันหนึ่งมีชาย ๒ คน ทำไร่แตงติดกัน เมื่อปลูกแตงแล้วเอาดินมาพูนเป็นถนนกั้นกลางระหว่างไร่แตงทั้งสอง เถาแตงได้เลื้อยมาพันกันจนเป็นต้นเดียวกัน จนกระทั่งเกิดเป็นผลขึ้นมา ชาย ๒ คน ต่างก็จะไปเก็บเอาผลแตง จึงเกิดการทะเลาะกัน พระเจ้าสมมติราชจึงให้พระมโนสารไปตรวจสอบดู พระมโนสารชี้ว่า ลูกแตงอยู่ในที่ของใคร คนนั้นก็เป็นเจ้าของผลแตง ซึ่งชายทั้ง ๒ ก็ไม่พอใจในคำตัดสินของพระมโนสาร จึงอุทธรณ์คำตัดสินไปยังพระเจ้าสมมติราช ๆ จึงให้อำมาตย์อีกคนไปดู อำมาตย์คนนี้จึงไปแยกเถาแตงออกจากกันก็พบว่า ลูกแตงนั้นเป็นของต้นใด ชายทั้ง ๒ จึงพอใจในคำตัดสินของอำมาตย์คนนั้น ประชาชนจึงพากันติฉินนินทาพระมโนสารว่า ตัดสินความโดยมีอคติ ๔ ประการ คือ ฉันทาคติ (รัก) โทสาคติ (โกรธ) ภยาคติ (กลัว) และโมหาคติ (หลง) ทำให้พระมโนสารเกิดความเสียใจหนีออกไปบวชเป็นฤาษีและเจริญภาวนาจนได้อภิญญา ๕ อรรถสมบัติ ๘ และมีความประสงค์จะให้พระเจ้าสมมติราชตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ จึงได้เหาะไปที่กำแพงจักรวาล ซึ่งมีพระธรรมศาสตร์จารึกอยู่ ตัวอักษรตัวหนึ่งใหญ่เท่าช้าง เมื่อพระมนูไปถึงได้ศึกษาและจดจำเอามาเขียนเป็นคัมภีร์พระธรรมศาสตร์สั่งสอนพระเจ้าสมมติราช
.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกพระมนู มาเป็นตราประจำโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เตือนใจนักเรียนให้ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค แม้ว่าจะผิดพลาดไป หากมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ไขปรับปรุง พัฒนาตนเองแล้ว ย่อมได้รับความสำเร็จอย่างแน่นอน ทั้งยังจะต้องนำความรู้ที่ได้มานั้นมาทำประโยชน์ต่อผู้อื่นอีกด้วย
.
ตราพระมนูแถลงสาร ซึ่งอยู่กลางผืนธงพระมนูแถลงสารนี้ ต่อมาได้กลายเป็นตราของวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบันอีกตราหนึ่งด้วย

(ในภาพ ซ้าย : ธงพระมนูแถลงสาร ขวา : เทวรูปพระมนูแถลงสาร รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ พระราชทานทั้งสองสิ่งนี้ไว้แก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันยังคงประดิษฐานอยู่ ณ วชิราวุธวิทยาลัย)

บทความจาก: วรชาติ มีชูบท
อาจารย์สมมาตร สังขพันธ์ ส่งมา